ถั่วแระญี่ปุ่นพืชเศรษฐกิจส่งออก ปลูก 70 วัน เก็บขายได้ กำไรดี

5531 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ถั่วแระญี่ปุ่นพืชเศรษฐกิจส่งออก ปลูก 70 วัน เก็บขายได้ กำไรดี

ถั่วแระญี่ปุ่น หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เอดามาเมะ (Edamame) ฝักมีขนาดใหญ่ บริโภคเมล็ดในระยะเมล็ดเต่งเต็มที่ แต่ฝักยังมีสีเขียวอยู่ ปัจจุบันได้รับความนิยมทั้งในแง่การปลูก การบริโภคในประเทศและการส่งออก
.
ดั้งเดิมเป็นพืชที่ชาวญี่ปุ่น จีน และเกาหลี บริโภคกันทั่วไป โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น นิยมนำมาทำเป็นกับแกล้ม อาหารว่าง ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศสหรัฐอเมริกา นิยมนำมาเสิร์ฟเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย วิธีการทำก็ง่ายมาก แค่ผ่านน้ำเดือดราว 3-5 นาที ใส่ตะแกรง ตั้งให้สะเด็ดน้ำ แล้วโรยเกลือ ในปัจจุบันมีขายทั่วไป ทั้งในรูปแบบฝักแช่แข็ง หรือแกะเมล็ดแช่แข็ง ซึ่งนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เนื่องจากคนญี่ปุ่นนิยมบริโภคมาก แต่พื้นที่การปลูกไม่เพียงพอ จึงขยายพื้นที่ปลูกไปยังจีนและไต้หวัน ซึ่งในปัจจุบันก็มีที่ประเทศไทยด้วย นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกอีกตัวหนึ่งของไทยเลยทีเดียว
.
จากข้อมูลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ระบุว่าถั่วแระญี่ปุ่นเป็นถั่วเหลืองที่มีโปรตีนสูงถึง 12.4%
.
การปลูกและการดูแลถั่วแระญี่ปุ่น
ปลูกได้เกือบตลอดทั้งปีขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ สภาพอากาศที่เหมาะสมในการปลูกถั่วแระญี่ปุ่นคืออากาศร้อนชื้น (อากาศร้อนเกินไปทำให้ฝักมีขนาดเล็ก จำนวนฝักตกเกรด ผลผลิตต่ำ อากาศเย็นก็จะทำให้การเจริญเติบโตช้าผลผลิตต่ำ)
ไถพรวน 2 ครั้ง เพื่อให้ดินร่วนและเป็นการกำจัดวัชพืช
ยกแปลงปลูก ให้หลังแปลงกว้าง 40-45 เซนติเมตร เว้นแนวทางเดิน หรือร่องน้ำกว้าง 25-30 เซนติเมตร
ระยะห่างระหว่างแถว 25-30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม 20-25 เซนติเมตร
หยอดเมล็ดพันธุ์ หลุมละ 3-4 เมล็ด ลึก 2-3 เซนติเมตร
การให้น้ำ ควรให้น้ำในแปลง 1 วัน ก่อนทำการปลูก กรณีในพื้นที่ราบลุ่ม พื้นผิวแปลงราบ ให้น้ำโดยปล่อยน้ำเข้าไปตามร่องน้ำ สูงประมาณครึ่งร่อง ทิ้งไว้ประมาณครึ่งวัน แล้วระบายน้ำออก เพื่อให้ดินมีความชื้นเพียงพอต่อการงอกของเมล็ด แต่ให้หลังแปลงแห้งและไม่แฉะเกินไป เพื่อสะดวกต่อการใช้เครื่องหยอดเมล็ด
ให้น้ำครั้งต่อไป เมื่ออายุ 7-10 วัน หลังจากนั้นให้ดูจากความชื้นของดิน
การเก็บเกี่ยว 69-73 วัน หลังจากหยอดเมล็ด
.
หมายเหตุ: ถั่วแระญี่ปุ่นแต่ละพันธุ์ มีอายุการเก็บเกี่ยวไม่เท่ากัน และอายุการเก็บเกี่ยวยังแปรปรวนตามสภาพแวดล้อมและการปฏิบัติดูแลรักษาด้วย
(อ้างอิงข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และกรมส่งเสริมการเกษตร)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้